สมัยธนบุรี (พ.ศ.2310 - พ.ศ.2325)
การปกครองในสมัยธนบุรี ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิมที่ใช้อยู่ในสมัยอยุธยา เนื่องจากขณะนั้นเป็นระยะที่ไทยกำลังรวบรวมอาณาจักรขึ้นใหม่ พระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสิน) ทรงมีพระราชภาระในการปราบปรามบรรดาชุมนุมอิสระต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังกรุงศรีอยุธยาแตก
ลักษณะทางเศษฐกิจ
ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นครองราชสมบัตินั้น บ้านเมืองกำลังประสบความตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างที่สุด ขาดแคลนข้าวปลาอาหาร เกิดความอดอยากยากแค้น จึงมีการปล้นสะดมแย่งชิงอาหารอยู่ทั่วไป การทำไร่ทำนาต้องหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง ในช่วงปี พ.ศ. 2311 - 2319 ข้าวปลาอาหารฝืดเคืองมาก มิหนำซ้ำยังเกิดภัยธรรมชาติซ้ำเติม ทำให้ภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายอยู่แล้วกลับทรุดหนักลงไปอีก กล่าวคือ ได้เกิดมีหนูระบาดออกมากินข้าวในยุ้งฉาง ความขาดแคลนในระยะนั้นได้ทวีความรุนแรงถึงกับมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากกว่าเมื่อครั้งที่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเสียอีก
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงแก้ไขวิกฤตการณ์ด้วยกุศโลบายอันแยบคาย ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ดังต่อไปนี้
1) ทรงสละพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารราคาแพงที่ต่างชาตินำมาขาย แล้วนำไปขายให้ราษฎรในราคาถูก และทรงแจกเสื้อผ้า อาหารแก่ผู้ยากไร้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งได้ผลดีอย่างยิ่งในการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชน ซึ่งภาวะจิตใจกำลังตกต่ำสุดขีดจากสภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด 2) ทรงเร่งรัดการทำนา เพื่อให้มีข้าวบริโภคเพียงพอ โดยการเกณฑ์ข้าราชการทำนาปรัง (การทำนานอกฤดูกาล) ในเวลาเดียวกันก็ป่าวประกาศให้ราษฎรดักหนูในนามามอบให้ทางราชการ เพื่อกำจัดการระบาดของหนูนาให้หมดไปโดยรวดเร็วทรงวางแผนระระยาว เพิ่มเนื้อที่ปลูกข้าวใกล้พะนคร โดยทรงให้ปรับปรุงพื้นที่นอกกำแพงเมืองทั้ง 2 ฟาก ซึ่งเคยเป็นสวนเป็นป่า ให้เป็นทะเลตม พอเสร็จศึกพม่าราวกลางปี พ.ศ. 2319 ก็ทรงบัญชาให้กองทัพลงมือทำนาในที่ซึ่งตระเตรียมไว้นั้น
เศรษฐกิจในสมัยธนบุรีเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา (คือทำพอมีพอกินในแต่ละครอบครัว) การทำนาเป็นอาชีพหลัก นอกจากนั้นก็มีการปลูกฝ้าย ยาสูบ อ้อย ผัก และผลไม้กันทั่วไป เมื่อบ้านเมืองพ้นจากภาวะสงครามไม่มีข้าศึกมารบกวน ประชาชนก็มีเวลาตั้งหน้าประกอบการอาชีพ ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น บ้านเมืองจึงสามารถกลับฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ภายในเวลาไม่กี่ปี ส่งผลให้เกิดธุรกิจการผลิตและการติดต่อค้าขายขยายกว้างออกไปเกิดบริเวณชุมชนตามแหล่งผลิตต่างๆ เพิ่มขึ้น และค่อยๆ เติบโตเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่ ในการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจนั้น พระองค์ได้ทรงดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้
1) การสร้างงานด้านการเกษตร เพื่อเร่งรัดการผลิตอาหารได้เพียงพอสำหรับการบริโภค ในขั้นแรกได้ทรงใช้แรงงานคนไทยโดยระดมกำลังจากกองทัพ แต่หลังจากที่ทรงปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ไว้ได้ในอำนาจ จึงได้แรงงานจากเชลยที่กวาดต้อนมาได้ เช่น แรงงานจากเชลยชาวลาว เชลยชาวเขมรใช้ในการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รวมไปถึงแรงงานชาวจีนซึ่งได้รับการสนับสนุนให้เข้ามาประกอบอาชีพในราชอาณาจักรด้วย 2) การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในหัวเมือง เมื่อแรงงานในส่วนกลางมีมากขึ้น จึงทรงใช้แรงงานเหล่านั้นไปสร้างความเจริญให้แก่หัวเมือง เช่น ให้คนลาวไปตั้งบ้านเรือนทำการเพาะปลูกที่เมืองสระบุรี ราชบุรี เพชรบุรี จันทบุรี ให้ชาวจีนบางกลุ่มไปประกอบอาชีพทำไร่ เช่น ไร่อ้อย ไร่พริกไทย ตามหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก และอาชีพทำเหมืองทางภาคใต้ ธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ทำให้เกิดความเจริญเติบโตของเมือง มีชุมชนขนาดใหญ่เกิดขึ้นตามแห่งผลิตต่างๆ ระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพซึ่งทำกันอยู่เดิมก็เริ่มเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดมีโรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล และเหมืองดีบุกขึ้นมา 3) การเปิดรับความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเห็นความสำคัญของความรู้ที่ต้องใช้ในการพัฒนาชาติบ้านเมือง เช่น ความรู้ทางด้านการค้าขายและทางช่าง จึงทรงสนับสนุนให้ชาวจีนเข้ามาช่วยเหลือกิจการในด้านเหล่านี้ เป็นต้นว่า การต่อเรือ การเดินเรือ การตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม เช่น โรงสี โรงเลื่อยจักร โรงงานน้ำตาล ปรากฏว่าความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ ทำให้ผลผลิตจากชนบทเข้าสู่เมืองมากขึ้น และส่งเสริมให้ธุรกิจเชิงพาณิชย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว 4) การส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงส่งเสริมทางด้านการค้าขาย โดยส่งเรือสำเภาไปค้าขายยังประเทศจีน อินเดีย และประเทศใกล้เคียง สำหรับสิ่งของที่บรรทุกเรือสำเภาหลวงไปขาย มี ดีบุก พริกไทย ครั่ง ขี้ผึ้ง ไม้หอม ฯลฯ และเมื่อขายสินค้าหมดแล้วก็จะซื้อสินค้าต่างประเทศที่ต้องการใช้ในประเทศ เช่น ผ้าลายและถ้วยชามมาขายให้แก่ประชาชนอีกต่อหนึ่ง แต่ยังใช้ระบบการค้าขายแบบเดียวกับสมัยอยุธยา คือ อยู่ภายใต้การดูแลของพระคลังสินค้า หรือกรมท่า
ลักษณะทางสังคม
ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในสมัยธนบุรี กล่าวได้ว่า มีการควบคุมกันอย่างเข้มงวด เพราะบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสงคราม ต้องสู้รบกับพม่าข้าศึกอยู่ตลอดเวลา การเกณฑ์พลเรือนเข้ารับราชการไพร่โดย การสักเลก อันเป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณนั้น ได้มีการกวดขันเป็นพิเศษในสมัยนี้ โดยเฉพาะการลงทะเบียนชายฉกรรจ์เป็น ไพร่หลวง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงและหลบหนี แต่โดยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นผู้นำที่สามารถและเปี่ยมด้วยความเมตตา ราษฎรจึงยินยอมพร้อมใจกันเสียสละพัฒนาชาติบ้านเมืองอย่างเต็มความสามารถ ทำให้สังคมไทยกลับคืนสู่สภาพปกติภายในเวลาอันรวดเร็ว
ในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระสติฟั่นเฟือนไป เข้าพระทัยว่าทรงบรรลุโสดาบัน และจะให้พระสงฆ์กราบไหว้พระองค์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย นอกจากนี้ราษฎรทั่วไปยังได้รับความเดือดร้อนจากข้าราชการที่ทุจริตกดขี่ข่มเหงหาประโยชน์ส่วนตัว เป็นเหตุให้ละทิ้งบ้านเรือนหนีเข้าป่าไปเป็นจำนวนมาก คนร้ายกลุ่มหนึ่งที่กรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา) จึงถือโอกาสคบคิดกันปลุกปั่นยุยงราษฎรให้กระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี และก่อการกบฏเข้าปล้นจวนผู้รักษากรุงเก่า ฆ่าผู้รักษากรุงเก่าและคณะกรมการเมือง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีรับสั่งให้พระยาสรรค์ขึ้นไปสอบสวน แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้ากับพวกกบฏ และยกพวกมาปล้นพระราชวังที่กรุงธนบุรี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2324 บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกผนวชและคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แล้วพระยาสรรค์ก็ตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน ทางฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งไปราชการทัพเมืองเขมรและกำลังจะยกเข้าตีเมืองเสียมราฐ เมื่อทราบข่าวเกิดจลาจลในกรุงธนบุรี จึงรีบยกทัพกลับ ขณะนั้นเป็นเดือนเมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อมาถึงก็ได้สอบสวนเรื่องราวความยุ่งยากที่เกิดขึ้น และให้ประชุมข้าราชการ ที่ประชุมลงความเห็นว่าให้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสีย
ตลอดรัชสมัยของพระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องทรงตรากตรำในการสู้รบ เพื่อดำรงความเป็นเอกราชและขยายขอบเขตแผ่นดินไทย จนสามารถขยายเป็นอาณาจักรใหญ่ในแหลมทองนี้ นับได้ว่าพระองค์ทรงเป็นนักรบอย่างแท้จริง มิได้ทรงมีโอกาสแม้แต่จะเสวยสุขสงบแม้ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ ในตอนปลายรัชกาล พระยาสรรค์ได้ก่อกบฏ บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย จนเป็นเหตุให้ทรงถูกสำเร็จโทษwww.parliamentjunior.in.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น